คณะพลมารีย์

image002
พระนางมารีย์จอมทัพของพลมารีย์

คณะพลมารีย์ (The Legion of Mary) ตั้งขี้นในรูปกองทัพแบบกองทัพโรมันโบราณ การลงชื่อสมัครเป็นสมาชิกพลมารีย์รุ่นแรก ที่บ้านไมรา ถนนฟรันซิส นครดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เวลา 20:00 น. วันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1921 ก่อนวันฉลองวันบังเกิดของพระนางมารีย์

กำเนิดในประเทศไทย ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อวันที่ 2 กันยายน คศ. 1956

รูปแบบการจัดแท่นในการประชุม
รูปแบบการจัดแท่นในการประชุม

จิตตารมณ์ของพระนางมารีย์ : พลมารีย์มุ่งเจริญรอยตามพระนางในการถ่อมองค์อย่างลึกซึ้ง ในความนอบน้อมเชื่อฟังสมบูรณ์แบบ ในความอ่อนหวานเยี่ยงเทวดา ในการสวดภาวนาเป็นนิจ ในการทรมานกายเสมอ ในความบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ในความอดทนอย่างวีรชน ในความชาญฉลาดจากเบื้องบน ในความรักพระเป็นเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ตัวเลย ในความเชื่อของพระนางอันเป็นคุณธรรมที่มีล้นเหลือเฉพาะพระนางแต่ผู้เดียว (คู่มือ บทที่ 3)

คณะเซอร์ร่าประเทศไทย

 

เสียงฆราวาส
บทบาทของคณะเซอร์ร่า
ในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง

ถ้าเอ่ยถึงกลุ่มกิจกรรมฆราวาสในแต่ละสังฆมณฑล เราคงคุ้นเคยกับคณะพลมารีย์ คณะวินเซนต์ เดอ ปอลฯ องค์กรคู่สมรสเพื่อพระคริสต์(CFC) คณะพระเมตตา กลุ่มเฝ้าศีล กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน(BEC) กลุ่มส่งเสริมชีวิตครอบครัว เป็นต้น แต่ยังมีกลุ่มฆราวาสอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมเชื่อแน่ว่าหลายคนคงยังไม่รู้จัก กลุ่มนั้นคือ คณะเซอร์ร่า ซึ่งจริง ๆ แล้วก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย 30 กว่าปีมาแล้ว และมีกลุ่มเซอร์ร่าเกิดขึ้นในทุกสังฆมณฑล ผมจึงขอแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับบทบาทของคณะเซอร์ร่าในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงพอสังเขป ดังต่อไปนี้คณะเซอร์ร่าเป็นกิจกรรมฆราวาสแพร่ธรรม ทำงานด้านส่งเสริมกระแสเรียกพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

  1. ส่งเสริมและทำนุบำรุงกระแสเรียกพระสงฆ์และนักบวชชาย-หญิง
  2. ส่งเสริมกระแสเรียกฆราวาสของสมาชิกเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการทำงานรับใช้คณะ

คณะเซอร์ร่าก่อกำเนิดขึ้นในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงเมื่อ ปี ค.ศ. 1995 โดยคณะกรรมการขยายกลุ่มสภาเซอร์ร่าแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการเซอร์ร่ากลุ่มอุดรธานี ปัจจุบันมีคณะเซอร์ร่าในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง 3 กลุ่ม คือ

  1. คณะเซอร์ร่ากลุ่มอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ มีสมาชิก จำนวน 25 คน
  2. กลุ่มแม่พระแห่งฟาติมาท่าแร่ มีสมาชิก จำนวน 25 คน
  3. กลุ่มวัดพระคริสตราชา บ้านช้างมิ่ง มีการประชุมกลุ่ม เดือนละ 2 ครั้ง และดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของเซอร์ร่าสากลทุกประการ ทางกลุ่มได้ดำเนินกิจกรรมโดยจัดทำเป็นโครงการ ดังนี้
    1. โครงการสวดภาวนาเพื่อกระแสเรียก
    2. โครงการส่งเสริมสนับสนุนกระแสเรียกโดยการจัดค่ายแนะแนว สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ในโรงเรียนประจำหมู่บ้านคาทอลิก ร่วมกิจกรรมสัมผัสชีวิตเณรบ้านเณรฟาติมา และจัดกิจกรรมจำหน่ายสลากเพื่อสมทบกองทุนบ้านเณรฟาติมาท่าแร่
    3. โครงการให้ขวัญและกำลังใจพระสงฆ์ และนักบวชในสังฆมณฑล โดยการส่งการ์ดอวยพรวันคล้ายวันเกิด/วันครบรอบบวช มีการมอบปัจจัย ช่อดอกไม้ ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ เยี่ยมพระสงฆ์และซิสเตอร์ที่เจ็บป่วย เยี่ยมพระสงฆ์ที่ดูแลวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกล
    4. โครงการฟื้นฟูจิตตารมณ์ของสมาชิก โดยการจัดให้มีการเข้าเงียบประจำปี เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
    5. โครงการสานสัมพันธ์กับกลุ่มฆราวาสอื่น ๆ เช่น กลุ่มพลมารี กลุ่มชีวิตครอบครัว กลุ่มเฝ้าศีล กลุ่มคริสชนพื้นฐาน เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่มเซอร์ร่ายังได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารเซอร์ร่าประเทศไทยและ คณะกรรมการบริหารคณะเซอร์ร่า เขต 194 ปีละ 3 ครั้ง ร่วมงานบวชพระสงฆ์ งานฉลองวัด งานวันครอบครัวเซอร์ร่าและงานอื่น ๆ ที่ทางสภาอภิบาลวัดมอบหมาย
ปัจจุบันมี เทเรซา วิเรียม ศรีวรกุล ทำหน้าที่ประธานกลุ่มแม่พระแห่งฟาติมา และเปาโล สมฤทธิ์ กายราช เป็นเลขานุการ โทมาสประหยัด ยงดี เป็นประธานกลุ่มอัครเทวดามีคาแอล และมารีอา วิยะดา ดอนแสงเป็นเลขานุการ มารีอาสมหมาย สีทอง เป็นประธานกลุ่มวัดพระคริสตราชา บ้านช้างมิ่ง ยังมีโครงการขยายกลุ่มใหม่ให้มีเพิ่มขึ้นอีกในอัครสังฆมณฑล เพื่อให้สอดคล้องกับคติพจน์ของเซอร์ร่าสากลที่ว่า “จงก้าวไปข้างหน้าเสมอ ขออย่าได้ถอยกลับ” (Always go forward never turn back)

เปโตร นิคม กายราช
ผู้เขียน



คณะคูร์ซิลโลแห่งพระคริสตศาสนา

Cursillos.logoคณะคูร์ซิลโลแห่งพระคริสตศาสนา ถือกำเนิดที่เมืองมัลลอร์คา  ประเทศสเปน ในปี ค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรกำลังอ่อนแอ และศีลธรรมของคริสตชนเสื่อมลง  ผู้นำคริสตชนในหลายประเทศจึงได้พยายามที่จะรื้อฟื้นชีวิตคริสตชนของตนให้ดีขึ้น  และ ณ ที่นี้เองที่เยาวชนหนุ่มคาทอลิกที่มีใจร้อนรนในความเชื่อ  ร่วมกิจกรรมส่งเสริมความศรัทธาในรูปแบบต่างๆ  และพูดคุยถึงพระเจ้าอยู่เป็นประจำ ได้จัดกิจกรรมเดินทางไปแสวงบุญและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งชีวิตพระคริสต์   และด้วยการผลักดันอย่างเข้มแข็งของฆราวาส ชื่อ Eduardo Bonnin  และเพื่อนๆ  โดยมี คุณพ่อ ฮวน  แฮร์วาส  ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชแห่งเมืองมัลลอร์คา  เป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญ  ต่อมาได้พัฒนามาเป็นการอบรมผู้นำคริสตชนในรูปแบบของคูร์ซิลโลฯ

คณะคูร์ซิลโลแห่งพระคริสตศาสนา  เป็นองค์กรหนึ่งในพระศาสนจักรคาทอลิก  ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคริสตชนฆราวาส    มี นักบุญเปาโล  เป็นองค์อุปถัมภ์ (จากการประกาศแต่งตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6)    บรรดาผู้บุกเบิกขบวนการคูร์ซิลโลฯ  ได้หล่อหลอมให้คูร์ซิลโลฯมีคุณสมบัติที่โดดเด่น  โดยการถ่ายทอดความคิด  วิถีชีวิต มาเป็นทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วในชีวิตจริง  เพื่อปลุกสำนึกสังคมคาทอลิก  ให้ตื่นตัวในกระแสเรียกของตน

จิตตารมณ์ของคณะคือ “รักและรับใช้” โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ 3 ประการ คือ อุดมการณ์ (Ideal) การยอมมอบตน (Surrender) ความรัก (Charity)

คณะคูร์ซิลโลฯได้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยโดย คุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร ภายหลังจากที่ท่านได้เข้ารับการอบรมคูร์ซิลโล (Weekend Cursillos) ที่ประเทศฟิลลิปปินส์ การอบรมรุ่นที่ 1 จึงเกิดขึ้นในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ถึงวันนี้นับเป็นการย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 48 ที่คณะคูร์ซิลโลแห่งพระคริสตศาสนาในประเทศไทย  ได้เผยแพร่จิตตารมณ์  “รักและรับใช้”  ไปสู่สมาชิก (คูร์ซิลลิสตา) ในทุกสังฆมลฑลทั่วประเทศ  เป็นจำนวนถึง 5,971 คน ใน 160 รุ่น อันประกอบไปด้วย พระสังฆราช  พระสงฆ์  นักบวชชาย-หญิง และฆราวาส

คำว่า คูร์ซิลโล  หมายถึงการอบรม  อันเป็นหัวใจของคณะคูร์ซิลโลฯ  ในการนำคริสตชนเข้ารับการอบรมระยะสุดสัปดาห์  (Weekend Cursillos) เพื่อให้เขาเหล่านั้นกลับไปเป็นผู้นำในชุมชนของตน ที่พร้อมไปด้วยพลังแห่งการรับใช้อยู่ในกิจกรรมต่างๆ ของพระศาสนจักร โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานชีวิตคริสตชน การฟื้นฟูจิตใจ และการกระชับความสนิทสัมพันธ์กับองค์พระเยซูเจ้า อนึ่ง คณะคูร์ซิลโลฯเป็นองค์กรที่ปราศจากพันธกิจที่เจาะจงใดๆ หากแต่สนับสนุนให้สมาชิกพัฒนาภาวะผู้นำของตนต่อการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ ให้สามารถรับใช้สังคมรอบข้าง รวมถึงการแพร่ธรรมภายใต้ขอบข่ายของพระศาสนจักร

คณะคูร์ซิลโลแห่งพระคริสตศาสนา (ประเทศไทย) แบ่งการบริหารงานเป็นระดับต่างๆ คือ ระดับชาติ ระดับสังฆมณฑล และระดับวัด โดยมีพระสงฆ์เป็นจิตตาธิการ และสำหรับความเชื่อมโยงกับต่างประเทศนั้น เราถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Group) ซึ่งมีประเทศเกาหลีทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในปัจจุบัน

คูร์ซิลลิสตาทุกคนมีโอกาสรื้อฟื้นจิตตารมณ์ของตนเองได้ด้วยการเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย (Team Reunion) และอุลตรียา (Ultreya) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชีวิตพระได้เจริญเติบโตในชีวิตของเรา

ในปัจจุบัน การอบรมคูร์ซิลโล (weekend Cursillos) จะถูกจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยฝ่ายจัดการอบรม ในคณะกรรมการระดับชาติ  และวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม โดยคณะกรรมการระดับสังฆมณฑล ของสังฆมณฑลจันทบุรี (ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการระดับชาติ ให้ดำเนินการจัดอบรมได้เอง) นอกจากนี้ยังมีการจัดอุลตรียาในสังฆมณฑลต่างๆ ตามที่จะกำหนดกันไว้ตลอดปีด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายให้คูร์ซิลลิสตาทุกคนได้เจริญชีวิตเป็นคริสตชนที่แท้จริง เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวในการรับใช้พระคริสตเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพดังคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับองค์พระเยซูเจ้าเมื่อจบการอบรมว่า “ลูกยินดีรับใช้พระองค์”

 

คณะซาเลเซียนผู้ร่วมงานแขวงประเทศไทย

ตราคณะซาเลเซียนผู้ร่วมงาน

คณะซาเลเซียนผู้ร่วมงาน
(Association of Salesian Cooperators)

 

คริสตชนมีวิธีดําเนินชีวิตที่หลากหลายตามความเชี่อแห่งศีลล้างบาป บางคนได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า และประทับใจในวิถีชีวิตของคุณพ่อบอสโก จึงตระหนักว่าอุดมการณ์ของตนนั้นเหมาะที่จะ “ร่วมงานกับท่าน” และดําเนินชีวิตตามพระพรพิเศษเดียวกันกับคณะนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ ในฐานะฆราวาส และพระสงฆ์-นักบวช

อัคราธิการกับpopeตั้งแต่แรกเริ่ม คุณพ่อบอสโกปรารถนาที่จะหาคนมาทํางานกับท่าน ท่านจึงเชื้อเชิญฆราวาสชาย-หญิง และ พระสงฆ์ที่สังกัดในสังฆมณทลให้เข้ามา “ร่วมงาน” กับท่านในพันธกิจแห่งการช่วยเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนที่ยากจน และถูกทอดทิ้ง  และในปี 1876 คุณพ่อบอสโกได้เขียนโครงการชีวิตของผู้ร่วมงาน โดยร่าง “ระเบียบการคณะซาเลเซียนผู้ร่วมงาน” ซึ่งต่อมาได้รับการรับรองจากสันตะสำนักอย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน ซาเลเซียนผู้ร่วมงานแผ่ขยาย และทํางานอยู่ทั่วโลก และปฏิบัติพันธกิจซาเลเซียนในนามของพระศาสนจักรอัคราธิการมาไทย

ในประเทศไทยหมู่คณะซาเลเซียนผู้ร่วมงานกระจายอยู่ตามบ้าน และสนามงานอภิบาลซาเลเซียนเป็นหลัก จำนวน 13 หมู่คณะ และในประเทศกัมพูชาจำนวน 1 หมู่คณะ รวมมีสมาชิกกว่าร้อยคน โดยทุกหมู่คณะจะมี จิตตาธิการที่เป็นนักบวชซาเลเซียนชาย (SDB) และหญิง (FMA) เป็นผู้ช่วยเหลือเอาใจใส่ด้านการอบรม และ การประสานงานเกี่ยวกับความคิดริเริ่มในด้านการอบรม และการเผยแผ่ข่าวดี ซึ่งจิตตาธิการเหล่านี้ถือเป็นผู้ที่ได้รับ มอบหมายจากคุณพ่ออัคราธิการของคณะซาเลเซียนผู้ใหญ่สูงสุดของคณะโดยตรง

รูปแบบการดำเนินชีวิตของซาเลเซียนผู้ร่วมงานที่คุณพ่อบอสโกคิดถึง มีรูปแบบการดำเนินชีวิตทั้งในแบบ ที่เป็นฆราวาส ผู้ซึ่งเจริญชีวิตตามจิตตารมณ์ซาเลเซียนด้วยความสํานึกของการเป็นฆราวาสในทุกสถานการณ์ของ ชีวิต และการทํางาน และในแบบที่เป็นพระสังฆราช พระสงฆ์ หรือสังฆานุกร ผู้ซึ่งเจริญชีวิตศาสนบริการของตน อาศัยแรงบันดาลใจจากความรักอภิบาลของคุณพ่อบอสโก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 และสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ก็ทรงเป็นซาเลเซียนผู้ร่วมงานด้วย

ประธานแขวงมอบดอกไม้ด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรนี้เอง ซาเลเซียนผู้ร่วมงานจึงแสดง ความจงรักภักดีเยี่ยงบุตรต่อองค์สมเด็จพระสันตะปาปาทุกพระองค์ ดังที่คุณพ่อบอสโกมีความจงรักภักดี ซึ่งท่านได้ สั่งสอนลูก ๆ ของท่านในความรัก 3 ประการ คือ รักพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท รักในพระมารดาองค์อุปถัมภ์ และ รักในพระสันตะปาปา จึงทุกความปรารถนา และทุกคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นสิ่งที่ซาเลเซียน ผู้ร่วมงานทุกคนจะยึดถือปฏิบัติ นำมารำพึงต่อเนื่อง และถือเป็นหน้าที่จะที่ทำตามพระประสงค์

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 ของพระศาสนจักร ครบ 4 ปี (13 มีนาคม) ซึ่งตลอดเวลาที่ทรงรับตำแหน่งมา ทรงได้แสดงให้คริสตชนเห็นถึงความตั้งใจของพระองค์ที่ได้ทรง เลือกนาม “ฟรังซิส” นี้ เพื่อทรงบูรณะพระศาสนจักรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะถูกการต่อต้านทั้งจากภายใน และ ภายนอกอยู่ตลอดเวลา  และพวกเราซาเลเซียนผู้ร่วมงานได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น สัมผัสได้ถึงพลังที่ทำให้พระองค์ ยืนหยัดอย่างสงบ และตอบโต้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อได้เน้นย้ำความจริงในฐานะชุมพาบาลแท้ที่มีองค์พระจิตเจ้า นำพา คือ การที่ทรงชี้แสดงให้เห็นพระเจ้าในมุมมองแห่งพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ และการเรียกร้องให้ชีวิตคริสตชน และชีวิตเจิมถวายตัวเป็นประจักษ์พยานแห่งการรับใช้ มากกว่าการกดขี่ข่มเหง การแสวงหาผลประโยชน์จากความ อยุติธรรม หรือแม้แต่การ “เสแสร้งทำเพื่อให้ตัวเองดูเป็นคนดี และชอบธรรม แต่ในชีวิตจริงเอาเปรียบคนอื่น กดขี่ ลูกน้องโดยจ่ายเงินเดือนอย่างไม่ยุติธรรม…” (บทเทศน์พระสันตะปาปา 4 มี.ค. 2560) พระดำรัสเช่นนี้มีออกมา บ่อยครั้งและต่อเนื่อง จนแสดงได้ถึงสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงนำพระองค์ และแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของพระองค์ ที่ต้องการเป็นเสียงร้องถึงผู้ที่กดขี่ว่า “ท่านเป็นผู้ไม่ยุติธรรม” และเป็นเสียงร้องให้กับผู้ถูกกดขี่ว่า “ท่านคือผู้ที่คู่ควร กับพระเมตตา” ซึ่งเราซาเลเซียนผู้ร่วมงานพร้อมจะน้อมรับ และอยู่เคียงข้างพระองค์ในสำนึกรู้ถึงการเป็น “เสียง ของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร” (ยน.1 : 23) ร่วมกับองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเสมอ

ด้วยเหตุนี้ต่อหน้าสถานการณ์ในปัจจุบัน ซาเลเซียนผู้ร่วมงานจึงไม่เป็นเพียงแค่คนที่ทำงาน หรือคนที่ช่วยงาน ใครต่อใครเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใหญ่สูงสุดของคณะ คือ องค์สมเด็จพระสันตะ ปาปาในทุกเรื่อง ซึ่งในสมณสาส์นของพระองค์ Amoris Laetitia (ชื่อย่อ AL.) “ความชื่นชมยินดีแห่งความรัก” คุณพ่ออัคราธิการได้นำเสนอพันธกิจสำหรับครอบครัวซาเลเซียนในคำขวัญปีนี้  “เราคือครอบครัว” (We are a Family) ให้จับต้องได้ในฐานะที่เราเป็น “ซาเลเซียน” ให้สำนึกว่าพระเจ้าทรงพระเมตตาเกินกว่าความเข้าใจ ของเรา แต่ในความเป็นจริงแห่งชีวิตเราสามารถสัมผัสพระเมตตานี้ได้ด้วยใจสุภาพแท้จริงต่อผู้คน เรามั่นใจที่จะมอบ ความเมตตานี้ต่อไป …เหตุเพราะเราตระหนักได้ว่า ความเมตตาที่เราได้รับตลอดมาในชีวิต รวมถึงการถูกเรียกให้ ถวายคำสัญญาเพื่อเป็นซาเลเซียนผู้ร่วมงานนั้น แท้จริงเราไม่ได้ริเริ่มสิ่งใดเลย แต่ทรงริเริ่มทุกอย่างทั้งสิ้น ดังนั้น หากทรงประทานพระเมตตามากมายแก่เรา  เราจึงไม่ยึดพระเมตตานี้ไว้เป็นของเราเพียงลำพัง   แต่เราจะส่งต่อ ความเมตตานี้ให้ทุกคนที่สัมผัสชีวิตของเราในสถานะและบทบาท ณ ปัจจุบันขณะของเราแต่ละคน  และเราพร้อม ที่จะเป็นหลอดไฟ ที่ส่องแสงอย่างต่อเนื่องอาศัยการที่ต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และถึงแม้ว่าเราจะเป็นเพียง แค่หลอดไฟเล็ก ๆ ที่ฉายแสงในครัว ในห้องนอน ในห้องโถง หน้าบ้าน ตามถนน ในห้องน้ำ หรือในห้องเก็บของ ฯ เราทุกคน…ซาเลเซียนผู้ร่วมงานจะฉายแสงแห่งความจริงแห่งพระเมตตาเสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใดภาพรวมเข้าเงียบ

ซาเลเซียนผู้ร่วมงานพร้อมจะทําหน้าที่เผยแผ่ข่าวดีในการทำหน้าที่ประจําวันอย่างดี โดยอาศัยจิตตารมณ์ ซาเลเซียนเป็นแรงบันดาลใจ และเรามุ่งเอาใจใส่ต่อเยาวชนเป็นพิเศษ รวมทั้งให้ความสนใจต่อคําสอนของ พระศาสนจักรด้านความยุติธรรมในสังคม และการสื่อสาร เพื่อร่วมสนับสนุนงานของพระศาสนจักรท้องถิ่น ดังที่   บิดาของเรา…..คุณพ่อบอสโกได้เคยทำในชีวิตของท่าน เราพร้อมที่จะเป็นกระจกที่สะท้อนชีวิตของตัวเราเอง และของบรรดาผู้เจิมถวายตัวและผู้ได้รับการอภิเษกให้ตระหนักถึงชีวิตที่เป็นพยานแห่งความยากจนแห่งคุณค่าพระวรสารอย่างแท้จริง

ซาเลเซียนผู้ร่วมงานจะรวมตัวกันเป็นหมู่คณะระดับบ้าน ระดับแขวง ระดับภาค และระดับโลก เช่นเดียวกับ รูปแบบโครงสร้างของคณะนักบวชซาเลเซียน ซึ่งแต่ละบ้านจะสร้างโอกาสของการพบปะกันในการศึกษาแนวทาง ของคณะ และจิตตารมณ์ซาเลเซียนอย่างสม่ำเสนอ ส่วนในระดับแขวงเรามีกิจกรรมร่วมกันในโอกาสเข้าเงียบ ประจำปี เพื่อการแบ่งปันประสบการณ์งานอภิบาลในระบบป้องกัน ศึกษาเอกสารของพระศาสนจักร และทำกิจ ศรัทธาร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นฝ่ายจิต และหยั่งรากลึกในความรักของผู้ตั้งคณะ และความ เชื่อศรัทธา ในพระมารดาองค์อุปถัมถ์ของคริสตชนภาพรวมกับอัคราธิการ

คุณพ่อบอสโกต้องการให้มีผู้ร่วมงานกับท่านมาก ๆ เพราะเยาวชนจะมีอยู่เสมอในทุกสมัย พวกเราผู้ร่วมงานซาเลเซียนผู้ซึ่งเป็นความฝันแรกของท่านกำลังร่วมงานกับท่านในฐานะของเพื่อนร่วมทางที่เคียงข้างกัน กำลังร่วม ทำให้ความฝันของท่าน และความฝันของเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จนเกิดความเป็นจริงในการทำงานเพื่อ ความดีของบรรดาเยาวชน แล้วคติพจน์ของคุณพ่อบอสโก “ขอแต่วิญญาณ สิ่งอื่นไม่ต้องการ” จะเป็นจริงได้ เมื่อเราเข้าถึงใจบิดาของเรา…บอสโก ผู้ซึ่งเป็นป่าไม้ที่ให้ร่มเงาปกป้องชีวิตของเยาวชน นี่คือ ซาเลเซียน….ผู้ร่วมงาน

-ธ.อาภรณ์-

 

สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย (สคท.)

ตราสมาคมฯ

ประวัติสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย

กำเนิด

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.  1953 ชาวคาทอลิกจำนวน 12 ท่าน นำโดย นายแพทย์ประเสริฐ สมบุญธรรม,  นายแพทย์เลิศ  ศรีจันทร์,  มาสเตอร์มานิจ บุญคั้นผล และนายมนู สงวนแก้ว ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ความเจริญทางด้านวัตถุก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งความเจริญทางด้านจิตใจไปไม่ทัน  จึงเห็นควรที่ชาวคาทอลิก จะได้จัดตั้งสมาคมขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวคาทอลิก ให้ได้ร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมพระศาสนา, ศีลธรรม, ความสามัคคี, การศึกษา, การอาชีพ, การสังคมสงเคราะห์และการกุศล เป็นต้น จึงได้ดำเนินการขออนุญาตก่อตั้งสมาคมฯกับสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับใบอนุญาตเมื่อ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1954 ในชื่อ “สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย”

สำนักงาน สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย

เมื่อเริ่มแรก สมาคมฯมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ บ้านศรีจันทร์ เลขที่ 116 สาธรเหนือ กรุงเทพฯ โดยมีคุณพ่อคณะพระผู้ไถ่เป็นสงฆ์ที่ปรึกษา

ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1956 เมื่อสมาคมฯเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความมั่นคงขึ้น จึงได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ วัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี กรุงเทพฯ

ในปี ค.ศ. 1960 สมาคมฯได้จัดงานกุศล “วาณิชย์” ขึ้นใน วันที่ 6 พฤศจิกายน โดยได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากวัด โรงเรียน ห้างร้าน บริษัท และเอกชนผู้มีจิตศรัทธา เงินที่ได้รับ สมาคมฯได้นำไปจัดซื้อบ้าน เลขที่ 12 ถนนคอนแวนต์ เป็นสำนักงานถาวรของสมาคมฯ เพื่อใช้เป็นศูนย์ดำเนินงาน โดย ฯพณฯหลุยส์ โชแรง ได้กรุณาให้เกียรติมาเสกเปิดสำนักงานสมาคมฯ ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1961  และโดยที่สมาคมฯมีสถานที่ของตนแล้ว จึงได้รับ “ศูนย์คาทอลิก” และ ”ยุวกรรมกรคาทอลิก” เข้าอยู่ในเครือของสมาคมฯด้วย

ครั้นปี ค.ศ. 1986 สถานที่สำนักงานเริ่มคับแคบ สมาคมฯจึงได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ อาคารแพร่ธรรม อัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานของสมาคมฯ

ประมาณปี ค.ศ. 1995 ด้วยนโยบายของสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย ที่ปรารถนาให้องค์กรศาสนาคาทอลิกทั้งหลายอยู่รวมกัน สมาคมฯจึงต้องทำการย้ายสำนักงานอีกครั้งหนึ่ง มาอยู่ที่ ซอยนนทรี 14 (นาคสุวรรณ) ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 จวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้  สมาคมฯได้ขึ้นทะเบียน เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2006 ทำให้ปัจจุบัน สมาคมฯสามารถมีสิทธิมีเสียง เช่นเดียวกับองค์กรสาธารณกุศลที่ถูกต้องตามกฎของกระทรวงฯ

 

วัตถุประสงค์

สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ดังนี้

  • เพื่อเป็นตัวแทนของชาวคาทอลิกในประเทศไทย ประสานงานและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของทางราชการ
  • เพื่อส่งเสริมและช่วยงานของพระศาสนจักร
  • เพื่อส่งเสริมและช่วยงานขององค์กรฆราวาส
  • เพื่อส่งเสริมการศึกษา, การอาชีพ และ การกีฬา
  • เพื่อช่วยงานสังคมสงเคราะห์และการกุศล
  • เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและจริยธรรม
  • ไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง

นายกสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย

จิตรา (เตียวไพบูลย์)แท่นชวาล

ปัจจุบัน สมาคมฯได้มีอายุครบ 60 ปีแล้ว และมีนายกสมาคมฯดำเนินการติดต่อมารวม 29 สมัย ดังนี้

สมัยที่ 1,2 ค.ศ. 1954 – ค.ศ. 1957 ดร.เลิศ ศรีจันทร์ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 3 ค.ศ. 1957 – ค.ศ. 1959 นายแพทย์ประเสริฐ สมบุญธรรม (เสียชีวิต)
สมัยที่ 4-6 ค.ศ. 1959 – ค.ศ. 1965 นายแสวง เตียวไพบูลย์ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 7-9 ค.ศ. 1965 – ค.ศ. 1971 นายประเวทย์ วิชชุประภา (เสียชีวิต)
สมัยที่ 10 ค.ศ. 1971 – ค.ศ. 1973 นายทิวา บุญยะวณิช (เสียชีวิต)
สมัยที่ 11 ค.ศ. 1973 – ค.ศ. 1975 พลโทสุนทร สันธนะวนิช (เสียชีวิต)
สมัยที่ 12-13 ค.ศ. 1975 – ค.ศ. 1979 อาจารย์ชนะ ธนสมบูรณ์
สมัยที่ 14 ค.ศ. 1979 – ค.ศ. 1983 นายลิขิต วงศ์แสงธรรม
สมัยที่ 15 ค.ศ. 1983 – ค.ศ. 1985 ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย
สมัยที่ 16 ค.ศ. 1985 – ค.ศ. 1987 นายลิขิต วงศ์แสงธรรม
สมัยที่ 17 ค.ศ. 1987 – ค.ศ. 1989 นายชาลี ชาญศิริ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 18-21 ค.ศ. 1989 – ค.ศ. 1995 ดร.ทิม พรรณศิริ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 22 ค.ศ. 1996 – ค.ศ. 1997 นางวิภา มณีไพโรจน์
สมัยที่ 23 ค.ศ. 1997 – ค.ศ. 1999 ดร.ทิม พรรณศิริ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 24-25 ค.ศ. 1999 – ค.ศ. 2004 ดร.วิรัชนี พรหมสุนทร
สมัยที่ 26-27 ค.ศ. 2004 – ค.ศ. 2009 นางยุวดี นิ่มสมบุญ
สมัยที่ 28 ค.ศ. 2009 – ค.ศ. 2012 นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 29 ค.ศ. 2012 – ค.ศ. 2015 นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ (เสียชีวิต)
สมัยที่ 29 ค.ศ. 2015 – ค.ศ. 2018 นางจิตรา แท่นชวาล

ศูนย์ศิษย์สามเณราลัย

logoในปัจจุบัน ประเทศไทย มีบ้านเณรประจำอัครสังฆมณฑลทั้ง 2 แห่ง และทั้ง 8 สังฆมณฑล รวมถึงบ้านเณรในคณะนักบวชต่าง ๆ อีกจำนวนมาก หากนับจำนวนสามเณรที่เคยได้รับการอบรมจากทุกบ้านเณรรวมกันก็เป็นจำนวนหลักหมื่นกันทีเดียว มีเพียงจำนวนประมาณร้อยละสิบ ที่ได้รับเลือกสรรค์ให้ได้รับศีลบวชตามกระแสเรียก และจำนวนร้อยละเก้าสิบ ที่ได้รับกระแสเรียกให้เป็นฆราวาส บรรดาอดีตสามเณรเหล่านี้เป็นผู้ที่เคยได้รับการอบรม และฝึกฝนอย่างเข้มข้นในด้านจิตตารมณ์ “รักและรับใช้” มามากบ้างน้อยบ้าง ถือได้ว่าเป็นกลุ่มฆราวาสที่สามารถเป็นกำลังสำคัญในงานแพร่ธรรมฆราวาสของพระศาสนจักรเป็นอย่างดี พระศาสนจักรจึงมีดำริให้ก่อตั้ง “ศูนย์ศิษย์สามเณราลัย” ขึ้น

ศูนย์ศิษย์สามเณราลัยก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1959 ในสมัยที่ประเทศไทยมีเพียง 3 มิสซัง และมีบ้านเณรพื้นเมืองเพียงแห่งเดียวที่ย้ายจากบางนกแขวก มาตั้งเป็นบ้านเณรพระหฤทัย ที่ศรีราชา โดยดำริของท่านสังฆราช มิแชล มงคล ประคองจิต

ปัจจุบัน ศูนย์ศิษย์สามเณราลัย เป็นองค์กรหนึ่งของแผนกฆราวาส ในสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ที่มีพันธกิจหลักในการรวบรวมศิษย์เก่าของทุกสามเณราลัยให้เป็นกลุ่มฆราวาสที่พร้อมรับใช้ และเป็นกำลังสนับสนุนหลักในกิจการของพระศาสนจักรsalterrae201503

วัตถุประสงค์หลักของศูนย์ฯ คือเพื่อส่งเสริมความสามัคคี และความช่วยเหลือระหว่างสมาชิก ทั้งฝ่ายกาย ฝ่ายวิญญาณ, ส่งเสริมความกตัญญูต่อสถาบันบ้านเณร, ร่วมมือประสานงานกับศูนย์ศิษย์สามเณราลัยของบ้านเณรต่าง ๆ ตลอดจนองค์การคาทอลิกอื่นตามกำลังสามารถ เพื่อจะสามารถ สนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่พระศาสนจักร และสังคมประเทศชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

คุณพ่ออธิการบ้านเณร เป็นจิตตาธิการของศูนย์ฯ โดยตำแหน่ง และเนื่องจากในปัจจุบันประธานศูนย์ฯ เป็นประธานศูนย์ศิษย์สามเณราลัย แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ คุณพ่อจิตตาธิการของศูนย์ฯ ในปัจจุบันจึงได้แก่ คุณพ่อไชโย กิจสกุล ท่านอธิการแห่งสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน

ฆราวาสนับเป็นสร้างฐานรากที่สำคัญของพระศาสนจักร การเสริมสร้างฐานที่มั่นคงเพื่อนำพาศาสนจักรให้ดำรงคงอยู่ และดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามจิตตารมณ์แห่งคำสอน ขององค์พระเยซู
bf701eab-26c6-4e03-b1a9-2a4d81797de11คริสตเจ้า ด้วยการนำของสภาพระสังฆราช บรรดาศิษย์สามเณรนับเป็นกลุ่มฆราวาสที่มีพื้นฐานแห่งจิตตารมณ์ใกล้เคียงกัน สามารถพัฒนาให้เป็นบุคคลากรและกำลังสำคัญในงานฆราวาสต่าง ๆ ได้ดี ความพยายามในการรวบรวมบรรดาศิษย์เก่าจึงนับเป็นการนำประโยชน์อย่างมากมาสู่พระศาสนจักรไทยอีกหนทางหนึ่ง

บรรดาศิษย์เก่าของบ้านเณร ที่รวมตัวกัน ก็เป็นกลุ่มฆราวาสกลุ่มหนึ่งที่เน้นการส่งเสริมบ้านเณร ขณะที่บ้านเณรยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากฆราวาสท่านอื่น ๆ และกลุ่มฆราวาสอื่น ที่เป็น “ผู้ให้” แก่บ้านเณรตัวจริงอยู่เช่นเดิม ไม่เพียงแต่ปัจจัยในการหล่อเลี้ยงสามเณรให้เติบโต เจริญพร อย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่การสนับสนุนกระแสเรียกของบุตร หลาน ของเหล่าฆราวาสทั้งหลาย จะนับเป็นการสนับสนุนให้แก่พระศาสนจักรอย่างแท้จริง จำนวนสามเณรของบ้านเณรในปัจจุบันลดลงอย่างมาก

การรวมตัวของศิษย์เก่าบ้านเณรน่าจะเป็นพลังให้ฆราวาสคริสตชนกล้าที่จะส่งลูกหลานเข้ารับการฝึกอบรมที่บ้านเณร ทบทวนค่านิยมในการเสียสละบุตรหลานให้เข้าบ้านเณร เพื่อจะได้มีพระสงฆ์เผยแพร่ พระธรรมคำสอนของพระเยซูคริสต์ อย่างยั่งยืน เป็นการสืบทอดศาสนจักรไทยให้ยาวนานเพื่อคนรุ่นหลัง และตลอดไป การรวมตัวกันของฆราวาสที่มิใช่งานหลักของแต่ละคน และมิใช่งานที่มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นงานที่จำเป็นต้องอาศัยความเสียสละ ความรัก และความวางใจต่อพระพรในการทำงานส่วนนี้มาก ๆ เราจึงวอนขอพละกำลัง ความไม่ย่อท้อ และความมุ่งมั่นจากแบบอย่างของท่านนักบุญยอแซฟ องค์อุปถัมภ์ของศูนย์ ฯ เพื่อนำพากิจการของศูนย์ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

ประธานศูนย์ฯ คนปัจจุบัน คือคุณอภิชัย วงศ์วิไลวารินทร์ พร้อมด้วยคณะกรรมการ ที่มีวาระเลือกตั้งใหม่ทุก ๆ 2 ปี มีการประชุมพบปะกันเป็นประจำ ในทุก ๆ เย็นวันอังคารที่ 2 ของเดือน ณ ห้องประชุมบ้านพักพระสงฆ์ วัดธรรมมาสน์นักบุญเปโตร บางเชือกหนัง จึงขอเรียนเชิญ ตัวแทนศูนย์ศิษย์เก่าของทุกบ้านเณร, บรรดาเณรเก่าของทุกบ้านเณร และผู้สนใจ ร่วมพบปะกันได้ในโอกาสดังกล่าว อาจมีการประชุมสัญจรกันบ้างในบางครั้ง ก็สามารถติดตาม สอบถาม ข่าวคราวการประชุมกันได้ที่ Facebook : Salterrae Thai หรือ โทร. 02-681-3900 ต่อ 1301 หรือ 1308 ติดต่อ คุณอาวุธ กงมนตรี เจ้าหน้าที่ประจำของศูนย์ฯ

คณะแพร่ธรรมแห่งแม่พระฟาติมา (บลูอาร์มี่)

ประวัติคณะและวิสัยทัศน์

มงซินญอร์แฮโรลด์ โคลแกน เป็นผู้ก่อตั้งคณะบลูอาร์มี่ ซึ่งหมายถึง “กองทัพสีฟ้าของแม่พระ” เป็นองค์กรฆราวาสแพร่ธรรม ซึ่งทำกิจศรัทธาตามที่แม่พระร้องขอผ่านเด็ก 3 คนที่ฟาติมา ประเทศ โปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ. 1917 คือ สัญญาจะปฎิบัติตามเงื่อนไขเพื่อสันติภาพในโลก โดยขอให้สวดสายประคำทุกวัน พลีกรรมชดเชยบาปเพื่อการกลับใจ ทำการชดเชยบาปต่อพระเยซูเจ้าในศึลมหาสนิท และต่อดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ (ทำวันเสาร์ต้นเดือนติดต่อกัน 5 ครั้ง) เพื่อขอความรอดของวิญญาณทุกดวง และเพื่อสันติภาพของโลก

คุณชะลอ วรรณประทีป ได้นำคณะบลูอาร์มี่มาเผยแผ่ในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1977 ต่อมาคณะได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพร่ธรรมแห่งแม่พระฟาติมา” คณะได้รับการสถาปนาจากสันตะสำนัก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2005

 

วันที่ 13 มิถุนายน 1993 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ประกาศเป็นทางการให้วัดแม่พระฟาติมา ดินแดง เป็นศูนย์กลางของคณะแพร่ธรรมแห่งแม่พระฟาติมา ในอัตรสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยมีคุณพ่อเจ้าอาวาสเป็นจิตตาธิการ

พันธกิจ

  1. สวดบทถวายตัวเวลาเช้าและถวายกิจการงานประจำวันเป็นกิจพลีกรรม
  2. สวดสายประคำ 1 สาย โดยรำพึงถึงข้อรำพึงแห่งสายประคำทุกวัน
  3. สวมสายจำพวกรูปแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล เพื่อแสดงว่าได้อุทิศตนแด่แม่พระ
  4. ทำวันเสาร์ต้นเดือนติดต่อกัน 5 ครั้ง รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท สวดสายประคำ 1 สาย และรำพึงถึงรหัสธรรมทั้ง 4 ภาคของสายประคำเป็นเวลา 15 นาที โดยตั้งใจชดเชยความผิดต่อดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์

บทอธิษฐาน

แม่พระทรงเชิญชวนเราให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการสวดภาวนาเพื่อคนบาป โดยหลังจากสวดสายประคำครบ 10 เม็ด ให้เราภาวนา ดังนี้

ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดอภัยบาปของเรา
โปรดช่วยเราให้พ้นขุมไฟนรก
โปรดนำวิญญาณทุกดวงให้รอดสู่สวรรค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
วิญญาณที่ต้องการพระเมตตาของพระองค์มากที่สุด

งานคณะ

  1. วันที่ 13 ของทุกเดือน โอกาสถวายเกียรติแม่พระฟาติมาร่วมกับองค์กรฆราวาส เริ่มเวลา 15:00 น. ได้เชิญชวนสัตบุรุษและสมาชิกได้สวดถวายกิจการงานประจำวัน เน้นกิจพลีกรรมถวายแม่พระ และรื้อฟื้นคำสัญญาของสมาชิกคณะสวดสายประคำพระเมตตา อ่านพระวาจา และแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต สวดสายประคำโลก พิธีบูชาขอบพระคุณ และแห่พระรูปแม่พระ
  2. วันเสาร์ต้นเดือน เวลา 18:00 น. มีการทำกิจศรัทธาวันเสาร์ต้นเดือนร่วมกัน
  3. เชิญชวนสมาชิกคริสตชน และผู้สนใจ ร่วมอ่านพระคัมภีร์ต่อเนื่อง
  4. จัดเตรียมแผ่นพระวาจาแจกให้ผู้ต้องการ เพื่อชวนให้อ่าน และนำไปดำเนินชีวิต
  5. ส่งเสริมความดีส่วนรวม ด้วยการเผยแผ่สารของแม่พระฟาติมา
  6. ร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ ของพระศาสนจักร

ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2017 เป็นวันฉลอง 100 ปีที่แม่พระประจักษ์ที่ฟาติมา ขอเชิญทุกท่านร่วมสวดสายประคำ และทำพลีกรรมถวายพระแม่เพื่อสันติภาพและการกลับใจ